วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

INFINITY PRINT @ brown sugar


    

     ในขณะที่สังคมอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเร่งรีบและบีบคั้น แต่ละวันผู้คนดำเนินชีวิตอู่ภายใต้ อำนาจของ
เศรษฐกิจและการเมือง การแสวงหาความสุขที่นอกเหนือไปจากการดิ้นรนทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ เป็นเรื่องสิ้น สำหรับใครหลายคน เพราะจุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตในสังคมนี้ ทำเพียงเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น จึงไม่แปลกหากการเสพความสุขจากงานศิลปะ ดูจะเป็นการฆ่าเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถึงกระนั้นยังคงมีกลุ่มนักศึกษาศิลปะมากมายพยายามสร้างสรรค์ผลงานสะท้อนอารมณ์ วิธีคิด และปรัชญา ตามรูปแบบวิธีการที่ตนเองถนัดออกมาให้ได้ชมกันเรื่อยมา


     นิทรรศการ "INFINITY PRINT" เป็นนิทรรศการภาพพิมพ์ร่วมสมัยที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่ม
นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่1 คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนองานจิตรกรรม 2 มิติที่ถูกเรียกว่า "ภาพพิมพ์" อันเนื่องมาจากกระบวนการสร้างสรรค์ที่จำเป็นต้องอาศัยแม่พิมพ์ พิมพ์ลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นตามต้องการ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะพิเศษ เฉพาะตัวและมีคุณค่าไม่ต่างจากภาพวาดหรืองานศิลปะประเภทอื่น ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วยผลงานของนักศึกษา 8 คนที่พยายามสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ออกมา 8 รูปแบบได้อย่างน่าสนใจ
     ผลงานชุดแรกเป็นของนักศึกษาหญิงที่เธอกำลังถูกจับตามองจากวงการศิลปะร่วมสมัยในฐานะศิลปิน
ผู้คิดคั้นเทคนิคการสร้างภาพพิมพ์ตามแบบฉบับของเธอเอง ชญานิษ ม่วงไทย เสนอกระบวนการเผาไหม้ของไฟ ภายใต้การแสดงออกพฤติกรรมความเป็นมนุษย์ ผลงานชิ้นต่อมาเป็นของ พรยมล สุทธัง ผู้ทราบซึ้งและประทับใจกับร่องรอยชอล์คบนกระดาน จากคำสอนของคุณครู ซึ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เธอจึงพยายามบันทึกและสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพพิมพ์ โดยยังคงความงามในองค์ประกอบศิลป์ ที่เป็นสิ่งจำเป็นของศิลปะไว้
                                                                                                                                  ผลงานของศิลปิน ทั้ง 8
      ชาลิศา วงษ์มงคล ใช้การซ้อนทับของผ้าโปร่งใส สร้างมิติการลวง เพื่อแสดงการบิดเบือนตัวตน
ภายใต้ใบหน้าที่ไรเดียงสา ธนวัฒน์ พรหมสุข สร้างกระบวนการผสมผสานการปักเย็บ ฉีก และดึง ต่อเติมให็เกิดมิติใหม่สะท้อนความหมายแทนบุคคลอันเป็นที่รัก สุรศักดิ์ สอนเสนา นำเสนอภาพพิมพ์แกะไม้ เป็นภาพต้นไม้ย้อนกลับสู่ภายในของความสงบ ปราชญ์ คณานุรักษ์ ใช้การเจาะภาพถ่ายตนเองเป็นที่กำหนดสติ เพื่อหาหนทางการระบายออกภาวะความสับสนและทึบตันของจิต นภาพร มบขุนดาล ใช้แม่พิมพ์แกะไม้ สร้างภาพลักษณ์ของชีวิตพื้นถิ่นบนผืนผ้าห่มกาย วนีย์วรรณ์ กิตติบดีสกุล เสนอภาพความทรมานของร่างกายและจิตใจใต้ริ้วน้ำ โดยถ่ายทอดลงในเทคนิค อะควอติน (aquatint)1



     จากศิลปินที่หลากหลายก่อเกิดรูปแบบ เทคนิคการสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ และสิ่งสำคัญ แนวความคิดที่แตกต่างกัน ทำให้เห็นถึงจินตนาการที่สร้างสรรค์อย่างไม่รู้จบ บนพื้นฐานกระบวนการภาพพิมพ์ ที่มีพัฒนาการอย่งต่อเนื่อง ตามยุคสมัย นี่อาจเป็นนัยยะของการรวมตัวกันของศิลปินทั้ง 8 ที่ต้องการสื่อสารสาระสำคัญ และความสวยงามของงานศิลปะที่ผ่านกระบวนมาอย่างมากมาย และพยายามสื่อสารกับเราทุกคนว่า หากเรายังคงมีความฝันและจินตนาการ ก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมาได้ไม่รู้จบ


     อย่างไรก็ตามนิทรรศการ "INFINITY PRINT" และผลงานภาพพิมพ์ของศิลปินทั้ง 8 ได้ทำหน้าที่ของตนเอง โดยได้ส่งต่อความคิดและเล่าเรื่องราวต่างๆแทนศิลปินได้เป็นอย่างดี ถึงแม้เสียงอาจยังไม่ดังนักด้วยความสามารถ และกำลังของข้อจำกัดในพื้นที่ และความเป็นนักศึกษา แต่สุดท้าย สิ่งที่เราได้รับคือความสุข แรงบันดาลใจที่ได้เห็นผลงานภาพพิมพ์ ได้รับรอยยิ้มและมิตรภาพที่ศิลปินทั้ง 8 มอบให้กับเราทุกคน ในนามขอศิลปินภาพพิมพ์ที่สร้างสรรค์อย่งไม่รู้จบ

 ..............................................................................
1 aquatint เป็นเทคนิคหนึ่งของภาพพิมพ์โลหะร่องลึก ( intalglio) กรรมวิธี คือ โรยผงยางสน (rosin)ลงบนแม่พิมพ์ ด้วยการโรยยางสน หรือด้วยมือ (ห่อยางสนบดละเอียดเป็นลูกประคบ แล้วตบให้ผงยางละเอียดหล่นลงบนแม่พิมพ์ ) นำแม่พิมพ์ไปลนความร้อนให้ผงยางละลายติดบนแผ่นแม่พิมพ์แล้วนำไปแช่น้ำกรด  ผงยางสนนี้จะเป็นตัวกันกรด ภายหลังจึงล้างผงยางสนออก ผลของการกัดจะเกิดพื้นผิวบนแม่พิมพ์  จะเป็นน้ำหนักอ่อนแก่ตามระยะเวลาของการแช่ในน้ำกรด ศิลปินมักใช้เทคนิคนี้ประกอบกับเทคนิคทางแม่พิมพ์โลหะอื่นๆ วิธีทำ Aquatint ด้วยผงยางสนนี้ คิดค้น โดยชาวฝรั่งเศสชื่อ Jean Baptiste Le -Prince ในราวปี ค.ศ. 1768 นอกเหนือจากวิธีการโรยยางสนแล้ว ยังสามารถใช้วิธีพ่นแลคเกอร์สเปรย์ หรือสีสเปรย์ได้เช่นกัน

ที่มา http://www.chaarts.com/article%20print%20making%204.html
     

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิเคราะห์ผลงาน Bicycle Wheel ของ Marcel Duchamp



Bicycle Wheel เป็นงานศิลปกรรมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุสำเร็จรูป¹ (Ready-made) ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันมาปรับแต่ง เพิ่มเติม ให้เกิดมุมมองใหม่ทางความคิด โดยมุ่งเน้นความสำเร็จรูปอย่างชัดเจน  Bicycle Wheel เป็นผลงานศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นจากวัสดุ 2 ประเภท คือ ล้อรถจักรยานที่เป็นโลหะและเก้าอี้ไม้  Duchamp เลือกวัสดุที่มีสีแตกต่างกัน แต่มีความสอดคล้องกันทางรูปทรง เพื่อสร้าง
             จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ของ Marcel Duchamp เกิดจากความคิดที่ต่อต้านการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบดั้งเดิม ซึ่งรูปแบบงานศิลปะ Cubism สร้างแรงพลักดันให้เกิดผลงานจนได้รับการย่งย่อง แต่ Duchamp ต้อการแสวงหาแนวทางการทำงานศิลปะที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง อีกทั้งยังมีความสนใจในปรัชญาของ Descartes Rene "Cogito Ergo Sum" : ฉันคิด ฉันจึงเป็นตัวฉัน จึงมี
ความพยายามนำความคิดในเชิงปรัชญาดังกล่าว มาสร้างสรรค์งานศิลปะของตนเอง ผสมผสาน
กับการเยาะเย้ยถากถางงานศิลปกรรมก่อนหน้า โดยเริ่มต้นจาก
การทดลองนำโถปัสสวะมาจัดวาง  ในมุมมองที่แตกต่างและเซ็นต์ชื่อลงบนผลงานของตนเองตามค่านิยมของการทำงานศิลปะแบบดั้งเดิม จึงเกิดเป็นผลงานชื่อ “Fountain” ในปี ค.ศ.1917 ซึ่ง Duchampได้อธิบายถึงแนวความคิด คุณค่าของสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้ด้วยตัวมันเองโดยมองว่าวัตถุ วัสดุหรือสิ่งต่างๆที่พบเห็นล้วนแล้วแต่มีคุณค่าจากความคิดที่สำเร็จรูปจากการผลิตของมนุษย์  เพียงแต่การพบเห็นเป็นปกติไม่สามารถนำไปสู่การเห็นคุณค่าที่แท้จริงได้  หากมีการปรับแต่งหรือเปลี่ยนแปลงให้ผิดแปลกไปจากเดิมวัสดุที่พบเห็นก็สามารถเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมได้
            Marcel Duchamp พัฒนาการทำงานศิลปะของตนเองจาก Cubism เป็นศิลปะรูปแบบ Futurism กลุ่มศิลปิน Dada จึงยกย่องให้ 
เป็นผู้นำกลุ่ม    Duchamp เป็นศิลปินคนแรกที่นำวัสดุสำเร็จรูปมาใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรม
อย่างชัดเจนและจริงจัง แสดงให้เห็นถึงลักษณะงานศิลปะสื่อผสม² อย่างชัดเจนหลังจากความพยายามนำวัสดุมาใช้ในการสร้างสรรค์ของ Picasso และ Georger Braque
         Bicycle Wheel  สร้างสรรค์จากความคิดทางปรัชญาที่ตอบสนองความต้องการสะท้อน
ความเป็นไปทางสังคมในเรื่อง ค่านิยมเกี่ยวกับศิลปะและสุนทรียศาสตร์  โดยพยายามแสดงออกในเรื่องแง่มุมทางความคิดที่มีความสำคัญกว่าภาพลักษณ์ภายนอกของงานศิลปะ หรือที่มาของวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์  ด้วยวิธีการสร้างความแปลกใหม่  ให้ผู้ที่พบเห็นได้เกิดความรู้สึกโต้ตอบกับงานศิลปะโดยตรง ซึ่งตรงกับประเด็นในทฤษฎีความคิดของ Alexander Gerard “ความรู้สึกเกี่ยวกับการโต้ตอบ (reflex sense)
            การโต้ตอบ (สะท้อนกลับ) ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผัสสะเหล่านั้น  ซึ่งทำหน้าที่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ (reactive function) เป็นบางสิ่งบางอย่างของเครื่องหมายสูงสุดในทฤษฎีเกี่ยวกับ 
ความรู้สึกพิเศษ” (special sense) ซึ่งมีการจำแนกความแตกต่างออกเป็น 7 ชนิดคือ
1. ความรู้สึกเกี่ยวกับความแปลกใหม่        ( the sense of novelty )
2. ความรู้สึกเกี่ยวกับความสูงส่ง               ( the sense of sublimity )
3. ความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม                 ( the sense of beauty )
4. ความรู้สึกเกี่ยวกับการเลียนแบบ          ( the sense of imitation )
5. ความรู้สึกเกี่ยวกับความกลมกลืน         ( the sense of harmony )
6. ความรู้สึกเกี่ยวกับความแปลกใหม่       ( the sense of novelty )
7. ความรู้สึกเกี่ยวกับคุณความดี               ( the sense of virtue )
Bicycle Wheel  แสดงออกถึงความรู้สึกแปลกใหม่ในการสร้างสรรค์ กระตุ้นให้สนมาสนใจและคิดถึงเหตุผล ซึ่งอาจนำไปสู่ความนึกคิดหรือองค์ความรู้ใหม่ เกิดการพัฒนาทางความคิดและสุนทรียศาสตร์  นำพาไปสู่ความคิดที่ตอบสนองความต้องการของศิลปิน ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่แปลกใหม่และทรงคุณค่าทางความคิด  อีกทั้งยังแสดงออกถึงความรู้สึกเยาะเย้ยถากถางงานศิลปะยุคก่อนหน้าในรูปแบบดั้งเดิม  เพื่อลบล้างความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะตามแบบประเพณี
Bicycle Wheel  เป็นงานศิลปกรรมที่กระตุ้นกระแสทางความคิดที่เกิดการพัฒนา และส่งผลชี้นำกระแสการสร้างสรรค์ศิลปะ เพื่อตอบสนองเรื่องราวทางความคิด โดยให้อิทธิพลต่อแนวทางศิลปะ
Pre-Pop และ Concepture art³ ที่มุ่งเน้นการใข้ความคิดหรือปรัชญาในเชิง พุทธิปัญญา (intellectual)
Marcel Duchamp จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของศิลปะ Post-Modern
         อย่างไรก็ตาม Bicycle Wheel  เป็นส่วนหนึ่งในกระแสของการสร้างสรรค์งานศิลปะ 
Post-Modern  ที่แรงพลักดันเกี่ยวกับความคิด หรือปรัชญาที่ตอบสนองความต้องการของสังคม โดย
ต่อมาได้มีการพัฒนาไปสู่การทำงานศิลปะที่เน้นความคิดมากขึ้น แสดงออกถึงภาพลักษณ์ที่เป็นปัจจุบัน เป็นความสำเร็จรูป แต่แอบแฝงไปด้วยปรัชญาทางความคิด



------------------------
¹  “วัสดุสำเร็จรูป ในภาษาอังกฤษ Ready-made พจนานุกรมศิลปะได้บัญญัติเป็นภาษาไทยว่า วัสดุเก็บตก เป็นวัตถุที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์
²  “สื่อผสม” ภาษาอังกฤษ Mix Media เป็นเทคนิคการทำงานศิลปะที่ใช้สื่อ หรือวัสดุมากกว่า ประเภท
³  “Concepture art” พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย แปลความว่า มโนทัศนศิลป์ เป็นการทำงานศิลปะที่เน้นความคิดมากว่าตัววัตถุ โดยมีวิธีการแบบ สัญวิทยา นิยมในตะวันตกในช่วง ค.ศ. 1960 – 1970 ใช้อธิบายงานศิลปะที่ไม่ใช้จิตรกรรมและประติมากรรม

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทวิจารณ์ผลงานศิลปกรรมของ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ




“ For 49 Days Exhibition” : Mind Journey Beyond Death
(ศิลปะสัจธรรมว่าด้วยเรื่องความตายและการเกิดใหม่ภายใน 49 วัน)


การมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น การรับรส รวมทั้งการสัมผัสทางกายภาพ เป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการนำเสนอผลงานศิลปะ ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่เราเรียกว่า “ศิลปะหลังสมัยใหม่”(1) (Post Modern) ซึ่งศิลปินนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ภายใต้ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ที่หันมาให้ความสำคัญกับความคิด มากกว่ารูปแบบ และวิธีการทำงานศิลปะตามแบบขนบดั่งเดิม ศตวรรษที่ 20 มีการนำความคิดเกี่ยวกับสถานะภาพของผู้ชมผลงานศิลปะว่า ไม่ควรอยู่ในเชิง “อกัมมันต์”(2) (passive) อย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรมีส่วนร่วมกับผลงานศิลปะทั้งทางตรงและทางอ้อม  โดยนำเสนอนิยามสุนทรียภาพจากการสัมผัสไว้ดังนี้
                 1. สุนทรียภาพ คือ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการสัมผัสกับสิ่งที่สร้างสรรค์ด้วยปัญญา
                 2. สุนทรียภาพ คือ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการสัมผัสกับการแสดงออกทางจิตปัญญา
                 3. สุนทรียภาพ คือ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการสัมผัสกับสัจจะ ซึ่งมีในรูปแบบต่างๆ
                 4สุนทรียภาพ คือ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการสัมผัสความหมายของสัญญาณ  สัญลักษณ์ 
                     รหัส   เครื่องหมาย หรือรูปเคารพ
            จากทฤษฎีสุนทรียภาพในข้างต้น ก่อให้เกิดผล ทางการสร้างสรรค์ ที่มีรูปแบบ วิธีการมากมาย ตามความชื่นชอบ และความสนใจของศิลปิน ซึ่งการสร้างสรรค์ได้ก้าวข้าม การทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสตร์ในสาขาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม ดนตรี วิทยาศาสตร์ นาฏยศาสตร์ และศิลปะการแสดง
            การรวมตัวกัน ของศาสตร์สาขาต่างๆ ที่ถูกหยิบยก นำมาใช้เป็นสื่อในการแสดงออกเนื้อหาสาระทางความคิด เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่กำลังถูกจับตามอง ถึงกระบวนการ รูปแบบและวิธีการ ซึ่งมีการพัฒนาสืบทอดต่อเนื่องมากจาก รากฐานทางวัฒนธรรมของชนชาติ จึงมีความน่าสนใจที่ศิลปินจะนำมาผสมผสานกับวิธีการ และกระบวนการทางความคิดในเชิงทัศนศิลป์ ซึ่งในปัจจุบันศิลปะการแสดง 
“บุดโต”(Butoh Dance) พัฒนาการจากศาสตร์เก่าแก่ของอารยธรรมญี่ปุ่น สู่ศิลปะการแสดงร่วมสมัย กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก  ทั้งจากศิลปินและบุคคลโดยทั่วไป


“บุดโต” (Butoh Dance) ศิลปะการแสดงจากรากฐานทางวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่มีพัฒนาการมาจากการร่ายรำแบบญี่ปุ่นที่มี ท่วงท่า ลีลาประกอบกับการร่ายเวทมนต์ หรือประกอบการสวดบูชา เพื่อขอให้วิญญาณไปสู่สุขคติ ซึ่งมีการเคลื่อนไหว 3 ลักษณะ คือ การหมุนตัว การเต้น และการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่แสดงมารยาททางสังคม “บุดโต” จึงเป็นศาสตร์การแสดงที่สามารถแสดงอามรณ์ความรู้สึกได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องราวทางจิตรวิญญาณ

ในปัจจุบันมีการเรียนการสอนศาสตร์ศิลปะการแสดง“บุดโต” กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวญี่ปุ่น ที่แสดงออกถึงความเป็นชาตินิยม ที่สามารถเก็บรักษารากฐานทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่ง “บุดโต” ถูกพัฒนาให้มีความร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้ฉากประกอบการแสดงที่เป็นสากล การนำดนตรีที่มีความทันสมัยเข้ามาใช้ รวมทั้งการพัฒนาวิธีการแสดงออกให้เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างชัดเจน

จากพัฒนาการ การทำงานศิลปะที่มีอย่างต่อเนื่อง“บุดโต” (Butoh Dance) จึงกลายเป็นผลงานศิลปะที่มีความน่าสนใจ ซึ่งการทำงานศิลปะโดยใช้ภาษากายในการสื่อสาร ก็สร้างแรงบัลดาลใจให้กับศิลปินจำนวนไม่น้อย

      อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง จากการทำงานศิลปะสื่อผสม(3)  (Mix Media) จนประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลกก็เป็นหนึ่งในศิลปิน ที่สนใจการทำงานศิลปะในรูปแบบการแสดง“บุดโต” (Butoh Dance)  อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ เริ่มการศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง จบการศึกษาปริญญาโท ศิลปะบัณฑิต สาขาจิตรกรรมจากคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาโทได้ไปศึกษาต่อ ณ เมือง Krokro ประเทศโปแลนด์ เริ่มต้นการทำงานศิลปกรรม จากการทำงานจิตรกรรม 2 มิติ ภายใต้เนื้อหาสาระทางสังคม ที่แออัดไปด้วยสถาปัตยกรรม 
สิ่งปลูกสร้างบนความเจริญทางด้านวัตถุของสังคม แสดงออกด้วยวิธีการทางจิตรกรรม  ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาพถ่ายศิลปะ   
                    
ช่วงปลายทศวรรษ 2520 อำมฤทธิ์เป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่ที่ร่วมบุกเบิกการทำงานศิลปะสื่อผสม โดยเฉพาะงานศิลปะที่เน้นการติดตั้งสัมพันธ์กับพื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ  การทำงานศิลปกรรมของ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ใช้สื่อและวัสดุ ผสมผสานผ่านรูปแบบที่ตอนสนองแนวความคิด และนัยยะแอบแฝงที่พยายามสอดแทรกไว้ในลักษณะต่างๆ โดยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากโลกศิลปะนานาชาติ เชิญให้เข้าร่วมการแสดงศิลปะนานาชาติ เวนิสเบียนาเล่ (Venice Biennale) ครั้งที่ 52 ปี 2550 ณ ประเทศอิตาลี ในชุดศิลปะสื่อผสมภายใต้ชื่อ “เชิญคุณก่อน...ขอหยุดคิด”         
                                                           
 “ความทุกข์” (Suffering) ผลงานศิลปะสื่อผสม ชุดล่าสุดของอำมฤทธิ์ ที่เป็นบทพิสูจณ์ถึงความทุ่มเท และคำสำเร็จในการค้นคิดทางวิธีการนำเสนอ แนวความคิดทางศิลปะในเชิงพุทธปรัชญา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคได้อย่างชัดเจน โดยผลงานเป็นการตีความจินตภาพของพุทธปรัชญา ที่ดูจะเป็นความเข้าใจยากสำหรับ บุคคลทั่วไปในสังคมแห่งความทันสมัย เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งการเลือกใช้ ความทันสมัยของ สื่ออิเล็กทรอนิคดูจะเป็นการตอบโจทย์ ที่ตรงประเด็นสำหรับการเรียนรู้ในยุคสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงสุดทำให้ผลงานเข้าถึงผู้ชมในสังคมในปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องการคำอธิบายอะไร นอกจากการมองเห็นผลงาน และตีความจากสิ่งที่เห็น
จากความพยายามสร้างสรรค์การแสดง“บุดโต” (Butoh Dance) อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ร่วมกับ กิตติพร อุดมรัตนกูลชัย และนักแสดงบุดโต ภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับ ความตายที่อยู่ไกล้ตัวเรามาก มันเป็นเรื่องที่ธรรมดา ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อถึงเวลานั้น จะสามรถบอกลาร่างกาย คนรัก และโลกใบนี้ และจากไปอย่างสงบได้อย่างไร คือ นิยามหนึ่งของ “มรณานุสสติ” จึงเกิดเป็นรูปแบบศิลปะการแสดงสดและสื่อร่วมสมัย (Performance Art and Intermedia) ขึ้นในชื่อ “For 49 Days Exhibition” : Mind journey beyond death ซึ่งจัดแสดง          ณ สตูดิโอชั้น 4  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

             การทำงานเริ่มต้นด้วย การทำความเข้าใจกับความหมายของ “มรณานุสสติ”(4) นิยามหนึ่งที่เกี่ยวกับความตายภายใต้คำสอนของพระพุทธศาสนามหายาน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความตาย ที่นำมาเป็นอารมณ์ เรียนรู้ความตาย ก่อนการจากไปอย่างสมบูรณ์ โดยแยกส่วนประกอบของผลงานออกเป็น 2 ส่วนคือ การแสดงบุดโต และสื่อมัลติมีเดี่ย (Multimedia) ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางกายภาพ ให้ผู้ชมสัมผัสกับภาพ แสง สี เสียง ที่เป็นปัจจุบัน สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามสถานเริงรมย์ เพื่อตอบสนองการสื่อเนื้อหาทางสังคมที่มีความต้องการสูง เป็นกิเลสที่ผู้คนใฝ่หา
            การแสดง ”บุดโต” (Butoh Dance ยังคงใช้พื้นฐานการแสดงตามแบบฉบับที่มีการพัฒนา รูปแบบร่วมสมัย สภาวะที่เงียบงันภายในห้องจัดแสดง เริ่มต้นด้วยเสียงหวีดร้องจากกลุ่มนักแสดงที่วิ่งกรูกันออกมาจากด้านหลังของ
ผู้ชม ไปยังตรงกลางเวทีด้านหน้า ท่าทางการร่ายรำที่ไม่ใช้ท่าทางของมนุษย์ ประกอบกับแสงสีอันจัดจ้าน จากฉากหลังที่สะท้อนความหมายจากท่าทางการเต้น และเสียงเพลงหลอนๆ คล้ายแนวเพลง Death Metal สลับกับเสียงเพลงที่ทำให้รู้สึกปลดปล่อย สร้างความสับสนให้กับผู้ชม แต่เมื่อดูไประยะหนึ่งจะถูกดึงเข้าไปถึงเนื้อหาของผลงานศิลปะชิ้นนี้อย่างไม่รู้ตัว




            ลักษณะการทำงานใช้มุมมองทางความคิด จากการรับรู้สิ่งเร้าทางสังคมที่ผู้คนมักคล้อยตาม ด้วยการยั่วยุของความอยาก กิเลสที่ยากจะหลุดพ้น ถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบทางกายภาพที่รับรู้พื้นฐานได้ด้วยการมองเห็น ส่วนประกอบในแต่ละส่วนมีการคิดค้นให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและพื้นที่การแสดง โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของศาสตร์ทางศิลปะทั้ง 2 สิ่ง ให้สามรถร่วมกันทำหน้าที่สื่อ เนื้อหาสาระเกี่ยวกับ  “มรณานุสสติ” ให้ชัดเจนที่สุด

            วิธีการทำงานในรูปแบบศิลปะการแสดงสดและสื่อร่วมสมัย (Performance Art and Intermedia) ของอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ได้สร้างความแปลกใหม่ และความน่าสนใจให้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งหากลองค้นหา วิธีการทำงานของศิลปินคนอื่นๆ ในลักษณะคล้ายกันนี้ คงต้องกล่าวถึง บิว วิโอล่า (Bill Viola) ศิลปินร่วมสมัยหัวก้าวหน้า ที่ทำงานผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการทำงานร่วมกับศาสตร์ที่เกี่ยวกับศิลปะการแสดง โดยมักนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกันสภาวะภายใต้แรงกดดันของสังคม
หากนำผลงานมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่ามีความแตกต่าง กันในเนื้อหาและ ผลกายภาพแต่มีรูปแบบและวิธีการที่คล้ายกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ  อาจได้รับอิทธิพลจากการทำงานลักษณะดังกล่าว
เพราะบิว วิโอล่า (Bill Viola) เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่มีการคิดค้น
                               การ ทำงานลักษณะวิธีการแบบเดียวกันนี้                                                 

 
                                                               ผลงานของ บิว วิโอล่า (Bill Viola)                                                           ผลงานของ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ

            วิธีการทำงานของอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ไม่ได้แค่เพียงต้องการนำเสอนผลทางกายภาพที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังคงแอบแฝงนัยยะในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเว้นช่องว่างให้กับผู้ชมได้จินตนาการ คิดทบทวนและตีความผ่าน ทัศนธาตุต่างๆที่มองเห็น แต่สิ่งที่สามารถสื่อถึงผู้ชมได้มากที่สุดคือ การแสดงอารมณ์ความรู้สึก ที่อาจนำพาผู้ชมเข้าถึงเนื้อหาสาระแท้จริงของผลงาน โดยไม่ต้องการคำอธิบายใดๆนอกจากภาพที่ปรากฏ และท่าทางที่ร่ายรำประกอบเข้าด้วยกัน
            จากการศึกษากระบวนการทางความคิดของผลงานยังสามารถเรียนรู้ถึง วิธีการทำงานที่เป็นระบบและมีการจัดการที่ดี ต่อการทดลองการทำงานศิลปะในรูปแบบใหม่ ที่ควรนำไปใช้เป็นตัวอย่างของการศึกษาระบบ กระบวนการทางความคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจน จากผลงานที่ปรากฎผลสำเร็จทางความคิด ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม
            สิ่งที่ผู้ชมผลงานทุกคนจะได้รับคล้ายกันคือ คำถามที่ตั้งเป็นข้อสงสัยว่าทำไม ถึงต้องแสดงออกในลักษณะนี้ หรืออาจได้รับความคิดที่เกิดจินตนาการสู่การรับรู้ที่แปลกใหม่ และทำให้เข้าใจสิ่งที่ผลงานต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้สิ่งใด หรือไม่ก็ตาม คงไม่สำคัญไปกว่าความคิดที่ศิลปินและนักแสดงพยายามสร้างสรรค์ เพื่อจุดหมายที่ต้องการให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต อยู่บนความไม่ประมาณ เรียนรู้อนาคตอันใกล้ ที่เราทุกคนหนีไม้พ้น “ความตาย” แต่จะตายอย่างไรให้สมบูรณ์ คงเป็นอีกประเด็นที่ศิลปินเว้นช่องว้างเอาไว้ให้ผู้ชมได้ใช้ความรู้สึก จากภายในจิตใจไปคิดทบทวนหาคำตอบด้วยตัวเอง



อย่างไรก็ ตามนี่อาจเป็นการทดลองหนึ่งของอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ แต่ก็สามารถสร้างกระแส การทำงานศิลปะที่ ก้าวล้ำไปกว่าการทำงานร่วมสมัยในรูปแบบอื่น ซึ่งการทดลองอาจมีข้อผิดพลาดบางประการ ด้วยการทำงานที่ไม่คุ้ยเคย สิ่งหนึ่งที่อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ได้พยายามแสดงออกที่สามารถรับรู้ได้ก็คือ การทำงานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบ ขอเพียงมีความเข้าใจในความคิดและรู้จัก จัดการกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นตัวแปรหรือข้อกำหนดด้วยปัจจัยใดก็ตาม จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ  ออกมาได้อย่างมีคุณค่า ไม่ด้อยไปกว่าการทำงานศิลปะในรูปแบบประเพณี



(1) ศิลปะหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ภาพลักษณ์ใหม่ทางศิลปะ โดยมีแนวคิดที่เห็นความงามทางความคิดสำคัญกว่า  การสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม วัสดุรูปแบบ เทคนิค วิธีการ กระบวนการสร้างสรรค์มักแอบแฝงไปด้วยความคิด มีนัยยะทางปรัชญา
(2) อกัมมันต์ (passive) หมายถึง ปฏิกิริยาอาการที่ไม่มีการโต้ตอบ
(3) ศิลปะสื่อผสม (Mix Medai) การทำงานศิลปะที่มีการผสมผสานสื่อทางศิลปะที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่นการผสมกันระหว่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพเคลื่อนไหว วีดีโอ เสียง กลิ่น หรือการสัมผัสทางกาย
(4) มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์  ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์และมนุษย์ จากคำสอนพระพรหมยาน


บรรณานุกรม
หนังสือ
                     มาร์ค ไทรบ์นิวมีเดียอาร์ต(New Media Art).กรุงเทพ บริษัท เดอะเกรทไฟน์อาร์ท จำกัด,2553
-               สุธี คุณาวิชยานนท์.จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่.กรุงเทพ:บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน), 2545
-               ศิลป์ ภาคสุวรรณ.รู้จักญี่ปุ่น.กรุงเทพ: ศูนย์หนังสือกรุงเทพ,2531
เว็บไชต์
-               www.butoh.net
-               www.butohschool.co



วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"รอยยิ้ม...เปื้อนน้ำตา"


ชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้ มีคุณค่า เกินกว่าเราจะเข้าใจ

         การได้พบปะพูดคุยกับเด็กๆ ที่ประสบเหตุความรุนแรงอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดความรู้สึกและข้อคิดดีๆ หลายอย่างทีเดียว พวกเขาเหล่านั้น เหมือนถูกสาป ให้ถูกหล่อหลอมจากจิตใจที่มีรากฐานจากความรุนแรงอย่างไม่ได้ตั้งใจ....
         เสียงปืน เสียงระเบิด ดูจะเป็นความธรรมดาสำหรับพวกเขา เด็กๆ หลายคน เล่าเรื่องราวของครอบครัวให้ฟังด้วยความสนุกสนานแต่เรื่องราวเหล่านั้น คือสภาวะความรุนแรง การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จบท้ายด้วยคำว่า กลัว!!!” จากปากของเด็กๆ
         ทำให้เข้าใจว่า แท้จริงแล้ววิถีการดำเนินชีวิตของคน  ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรม และความคิด แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกสังคมมีเหมือนๆกัน คือ การแสวงหาหนทางเพื่อความอยู่รอด และการสร้างความสุขจากสิ่งที่ตนมีอยู่ซึ่งต่างก็มีวิธีการแตกต่างกันออกไป
         หากเราลองย้อนกลับมาหาตัวเราเอง เราอาจจะพบบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราภาคภูมิใจ เรามีวิถีที่อาจแตกต่างจากคนอื่นแต่เราสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ อาจไม่สะดวกสบายนัก แต่มันก็ทำให้ชีวิตมีรสชาติ  เรื่องเล็กๆ ของคนอื่นอาจเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทำให้ชีวิตเรามีพลัง ก้าวเดินต่อไป อาจท้อแท้บ้าง 
แต่.......ไม่ถ้อถอย
         ขอให้ รอยยิ้ม เป็นดั่งพลัง...ให้ต่อสู่กับอุปสรรค รอยยิ้มของคนอื่นๆเป็นดั่งกำลังใจที่ส่งให้เรา ทุกครั้งที่เราเหนื่อย เราท้อแท้ ขอให้เรายิ้มกับตัวเอง บอกตัวเองว่าฉันต้องทำได้ เพราะในชีวิตของเราทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะมีแต่ความทุกข์ หรือมีแต่ความสุข หากเป็นเช่นนั้น คงหน้าเบื่อ ชีวิตคงขาดรสชาติ
         รอยยิ้ม ที่เต็มไปด้วยกำลังใจและความศรัทธาของตัวเรา ก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นๆได้ เริ่มต้นจากการยิ้มให้กับตัวเราและครอบครัว ยิ้ม เพื่อให้รู้ว่า เรายังคงรักและเป็นห่วงเขาเสมอ” “ยิ้ม เพื่อให้รู้ว่า เราสบายดีไม่ต้องห่วงนะ ยิ้มเพื่อเป็นกำลังใจ ยิ้มให้โลกนี้สดใส เพราะรอยยิ้มคือ ประตูไปสู่ความสุข กำลังใจ ความรักและความห่วงใย

รอยยิ้ม ที่อาจเปื้อนน้ำตา ก็คงเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติ กระตุ้นให้เรารู้สึกตัว ให้เราย้อนกลับไปมองตัวเองให้มากขึ้น.... หลายคนอาจมีประสบการณ์ร้ายๆ เข้ามาในชีวิตมากมาย อาจเกินจะรับไหว แต่ด้วยรอยยิ้มและกำลังใจก็ทำให้เราสามารถสู้ต่อไปได้ เพราะอย่างน้อยความรู้สึกร้ายๆเหล่านั้น มันมักจะทำให้เรารู้สึกตัว มีสติ และยังรู้ว่าเรา...ยังมีชีวิตอยู่มีลมหายใจ และมีความรู้สึก
         รอยยิ้ม เปื้อนน้ำตา คงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราทุกคนอาจจะได้พบหรือไม่ก็ตาม แต่มันคงไม่มีความหมายหากเราไม่ได้กลับมาคิดทบทวน ทำความเข้าใจกับมัน เพราะ รอยยิ้มที่เปื้อนน้ำตาไม่ได้เกิดขึ้นจากความทุกข์ทั้งนั้น อาจมาจากความสุข ความปิติที่เอ่อล้นไปทั่วหัวใจของเรา และแปลงความสุขนั้นเป็นน้ำตาไหลออกมา เพราะหลังจากการร้องไห้ไม่ว่าด้วยความสุขหรือความทุกข์ก็ตาม เรามักจะรู้สึกดีขึ้น รู้สึกโล่งใจ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้น เคยมีคำกล่าวที่บอกว่า บางครั้งน้ำตาก็ช่วยทำให้หลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้น
         รอยยิ้ม เปื้อนน้ำตา จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราทุกคนมีกันได้  ไม่ว่าจะเป็นชายอกสามศอกหรือหญิงแกร่ง อย่าอายหากต้องร้องไห้........เพราะเราคงไม่เสียหายอะไรมากนัก หากมีคนอื่นเห็นว่าเรากำลังร้องไห้ความหมายของการร้องไห้ ไม่ได้หมายถึงความทุกข์เพียงอย่างเดียว
         ถึงแม้การร้องไห้อาจไม่ใช้ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา แต่มันเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ช่วยให้เรามีสติและได้หวนกลับมาคิด ตั้งหลักต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆนานา ที่กำลังถาโถมเข้ามาในชีวิต มองวิกฤติให้เป็นโอกาส เริ่มต้นจัดการเรื่องเล็กๆน้อยๆ เท่าที่เราทำได้ เพราะสุดท้ายเรื่องเล็กน้อย หลายเรื่องรวมกันก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่

         เราไม่อาจแก้ไขปัญหา หรือเรื่องร้ายๆได้  ในชั่วพริบตา แต่เราสามารถแก้ไขมันได้ หากเรามีความพยายามและศรัทธา.... รอยยิ้มเปื้อนน้ำตา คงเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ เพื่อบางสิ่งที่เรารัก บางสิ่งที่ศรัทธา และเพื่อคนที่รักเรา เพราะไม่สามารถลิขิตหนทางของชีวิตเองได้ทั้งหมด แต่ขอให้พยายามต้อนรับสิ่งต่างๆเหล่านั้นด้วย รอยยิ้ม ถึงแม้จะเป็น รอยยิ้มที่เปื้อนน้ำตา.....


เลยลม....






"ละคร หลังข่าว"


                                               
ดาวพระศุกร์...ตะวันยอแสง...คมแฝกหรือบ้านทรายทอง คงเป็นชื่อคุ้นหูใครหลายคน สำหรับคอละครโทรทัศน์ละข่าวภาคค่ำ ซึ่งมีเนื้อหา เรื่องราวที่ดูจะเป็นไปได้ยาก ที่เราเรียกกันติดปากว่า ละครน้ำเน่า แต่เรายังคงชื่นชมและติดตามกันมาในทุกยุคทุกสมัย แรกเริ่มเดิมทีประเทศเรายังไม่มีละครโทรทัศน์ที่เป็นรูปแบบชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นละครเพลง โดยเริ่มต้นจากช่องสี่บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์เก่าแก่ของประเทศไทย ละครมีการสร้างบทละคร สร้างบทเพลงในการแสดงละครแต่ละครั้ง...ซึ่งดูจะเป็นการสร้างสรรค์อย่างน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม
ละครโทรทัศน์มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรวดเร็วตามกระแสทางเทคโนโลยี วิธีการนำเสนอดูมีชั้นเชิงและแนบเนียนมากขึ้น แต่เรื่องราวยังคงความเป็นอมตะอยู่เสมอ
ละครไทยมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว การแก้แค้นระหว่างตระกูล  การพลัดพรากจากครอบครัวอันมั่งคั่ง และความบังเอิญจนไม่น่าเชื่อ แต่เราก็ยังคงเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง ละครไทยมักมีองค์ประกอบของการแสดงอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ..... นักแสดง ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตามบทบาทของบทละคร พอจะสรุปคร่าวๆได้
นางเอก ต้องเป็นคน สวยใส บริสุทธิ์ ร้องไห้เก่ง น้ำใจงาม ยอมคน ตอนเด็กอาจลำบากเมื่อโตขึ้นกลายเป็นลูกมหาเศรษฐี เกลียดพระเอกแต่รักกันตอนจบ รักความถูกต้อง ค้นหาความจริง กตัญญูเป็นยอดคน ในบางครั้งอาจถูกกักขังจากพระเอก ถูกปองร้ายจากตัวโกงในละครบางเรื่องนางเอกต้องปลอมตัวให้ไม่สวย แต่ก็สวยอยู่ดี........ เอาเป็นว่าสิ่งที่สำคัญ ที่นางเอกทุกคนต้องมีคือ ความสวย ขนาดนอนยังสวยเลย...................

         “ พระเอก  ต้อง... หล่อ เท่ห์ ดูดี กล้ามใหญ่ ใจดี มีบุคลิกพิเศษ ถูกกลั่นแกล้งจากตัวโกง สู้ชีวิตและรักษาความถูกต้อง มองโลกในแง่ดี มีความสุขกับการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อกับชาวโลก โศกเศร้าเพียงลำพัง...มีความหลังเป็นแรงผลักดัน มีความฝันเป็นกำลังใจ พูดจาดี สุภาพและต้อง หล่อ ไว้ก่อน
         ผู้ร้ายหรือตัวโกง”  ต้อง ดุขึงขัง ขี้โกงพูดจาจาบจ้วงดุดัน เป็นนักวางแผน เห็นแก่เงิน อาจเป็นชู้กับใครบางคน หมกมุ่นอยู่กับการแก้แค้น มีบริวารมากมายห้อมล้อม (ตอนจบตายคนเดียว)  สบายกายสุขใจในต้นเรื่อง ถูกจับได้ฆ่าตัวตาย เป็นบ้าตอนจบ ยิงปืนไม่แม่น ตายยาก มีหน้าตาเป็นอาวุธ แต่ปัจจุบันมักมีหน้าตาหล่อแต่ร้าย บางเรื่องหล่อกว่าพระเอกและตายด้วยน้ำมือพระเอก หรือนางเอกเสมอ
         นางร้าย ต้อง สวย แสบ ซ่า กรี๊ดตลอดเวลา งี่เง่า ไม่ฟังใคร มีแม่หรือพี่สาวเป็นผู้ชี้นำ วางแผนทำร้ายนางเอก รักพระเอกอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่เสียตัวให้กับผู้ร้าย  หากตอนจบไม่ตายก็กลับตัวเป็นคนดี หรือสิ้นสติเป็นคนบ้า ชอบคบเพื่อนที่คอยสนับสนุนตัวเอง มีนักเลงเป็นบริวาร ชอบสร้างรอยร้าว ทำเศร้าอ่อยพระเอก สวมหน้ากากเก่งมาก และมีความสุขกับการได้ทำร้ายนางเอกและส่วนใหญ่.............ไม่สำเร็จ
           พระรองหรือนางรอง ต้องคอยเป็นเพื่อนนางเอก หรือพระเอกเสมอ เป็นสื่อกลางให้ความช่วยเหลือ แอบรักเป็นสำคัญ ฝันให้นางเอกและพระเอกมีความสุข ยอมทุกข์เพียงลำพัง รู้ทันผู้ร้าย แก้ไขปัญหาช่วยเหลือเพื่อนได้เสมอ และมักถูกขอร้องให้ช่วยอยู่เสมอ ดูดีน้อยกว่านิดหน่อยแต่บางครั้ง ดูดีกว่าด้วยซ้ำ แต่ไม่มีสิทธิ์เพราะเป็น....ตัวสำรอง.....เสมอ
         สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวคร่าวๆ ของตัวละครสำคัญของละครไทยซึ่งเราทุกคนก็คงเห็นเช่นเดียวกัน เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ดูละครย้อนดูตัว คงไม่เชยเกินไปที่จะพูดคำนี้ เพราะหากเราลองวิเคราะห์ไตร่ตรอง ทบทวนดูแล้ว เราคงได้รับแง่คิดต่างๆมากมาย จากการดูละครสักเรื่อง การดูเพียงเพื่อความสุข สนุกสนานเป็นส่วนหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้นหากเราเข้าใจเหตุผล ของสิ่งเหล่านั้น ด้วยความจริงที่ว่า ชีวิตจริงอาจเป็นบางสิ่งที่มากกว่าละคร เพราะเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าละครก็อาจเกิดขึ้นได้กับชีวิตจริงของเราทุกคน
         ละครหลังข่าวเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ที่เราท่านทั้งหลายใช้เวลาวันละ 2-3 ชั่วโมง ในแต่ละวันเพื่อมีความสุขและได้แง่คิดดีๆจากมัน..... แง่คิดดีๆ ที่ผู้จัดพยามสอดแทรก ยัดเหยียดไว้ในเรื่อง ดูจะเป็นเรื่องยากสักหน่อยที่จะทำความเข้าใจ แต่เพียงต้องการเวลา ในการไตร่ตรอง
         หลายคนค้นพบทางหนทางการดำเนินชีวิต หลายคนค้นพบแง่คิดดีๆ กับการดูละครสักเรื่อง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือ เรื่องจริง  หลายสิ่งหลายอย่างมีเหตุผลของตัวมันเอง เพียงแต่ต้องการ....... ประสบการณ์  และเวลาในการทำความเข้าใจ แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ (ลองดู) มองหาสิ่งที่สนใจสักเรื่อง เริ่มต้น แล้วเราจะได้อะไรตั้งมากมายกับการทำความเข้าใจ แม้แต่การดูละครหลังข่าว ที่บางคนมองว่าเป็นเรื่อง ไร้สาระ....


เลยลม...

ขอขอบพระคุณมากครับ สำหรับภาพละครที่ได้นำมาประกอบบทความนี้